วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แก่นของสมาธิเคลื่อนที่


1.การดับทุกข์(โลภ, โกรธ, หลง)
2.จะดับทุกข์ได้ต้องใช้ปัญญา
3.จะมีปัญญาได้ต้องมีตัวรู้หรือตัวสติ(รู้เป็นอนุพันธ์ของสมาธิ, สมาธิเป็นอนุพันธ์ของอารมณ์)
4.จะมีสติได้ต้องมีศีลและทาน จึงเป็นที่มาของทาน ศีล ภาวนา อันเป็นบุญบารมี

สมาธิเคลื่อนที่กับการทำงานไม่ให้เหนื่อย


เมื่อทำงานหรือออกแรงใดๆให้ทำเป็นจังหวะและให้จังหวะนั้นสัมพันธ์กับลมหายใจเข้าออก จะได้ไม่เหนื่อย และให้ปัญญาพัฒนาการเคลื่อนไหวและหน้างานที่ทำนั้นให้เป็นจังหวะสอดพร้องกัน

อนึ่ง การทำให้จิตตื่นหรือสดโดยตลอด ให้คิดตลอดทุกการกระทำ (ตั้งใจรับรู้องค์ธรรมภายนอก=ปรโตโฆสะ, ทำในใจให้แยบคาย=โยนิโสมนสิการ) ถ้าทำบ่อยๆก็จะลู่เข้าหาวิปัสสนา(รู้เห็นตามความเป็นจริง) อย่างเช่น เมื่อโกรธผู้อื่นให้ท่องว่า เมตตา...(ล่อจิต) ถ้าท่องหลายครั้งความโกรธก็จะดับลงได้



วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553

คำนำ

                                                        

ความทุกข์ใครๆก็เกลียด ความสุขใครๆก็รัก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็มียุทธวิธีดับทุกข์และสร้างสุขพร้อมกับได้ผลผลิตอันเป็นงาน         ซึ่งใครๆก็ทำกันอยู่ทั้งนั้น ยุทธวิธีดังว่านี้เป็นกระบวนการรวมตัวกันของสติ สมาธิ อารมณ์ ลมหายใจ และปัญญาซึ่งเป็นหลักสุดยอดแห่งการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน

โดยยุทธวิธีดังว่านั้นมีที่มาจาก แนวคิดพื้นฐานในเรื่อง สติ เพียงแต่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานใดๆ    หรือทำการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการออกแรง     หรือการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีความสุขและทำงานได้เป็นระยะเวลาอันยาวนานและต่อเนื่องโดยไม่เหน็ดเหนื่อยคือได้พักทั้งจิต และกายในเวลาเดียวกัน                                                                                                                   

ขออำนาจใดๆทั้งปวงทั้งในและนอกโลกทั่วสากลจักรวาลโดยเฉพาะอำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัยจงให้ผู้อ่านเป็นสุข มีจิตสดใสอยู่เป็นนิตย์.                                                                                                             


สุรเดช ผะอบทิพย์ พ.ต.ท./วศบ.(ไฟฟ้า),นบ.,รบ.,รน.,ตท.32      

สภาพและลักษณะแห่งทุกข์

                                                                                                                           
ว่ากันโดยทั่วไป ทุกวันนี้เราทุกข์กันอยู่แล้ว       เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาจนถึงหลับตาลงเนื่องจากเราต้องทำการสิ่งใดๆ     เป็นต้นว่า ต้องเก็บที่นอน ล้างหน้า แปรงฟัน ถอดเสื้อ อาบน้ำ     ฟอกสบู่ใส่เสื้อผ้า กินข้าว เดินทางไปที่ทำงานเข้าปฏิบัติงาน   ทั้งใช้กำลังแรง(แบก หาม ทูน ลาก ยก ดัน ตัก ถาง ถาก)   และไม่ใช้กำลังแรง(อ่านตรวจ เขียน ฟัง)เดินทางกลับบ้านและทำการเกี่ยวกับการเรือน(ซักผ้า รีดผ้า ล้างจาน กวาดเช็ดถูบ้าน รองน้ำไหลออกจากก๊อกน้ำให้เต็มถัง หรือรวมตลอดถึงการรอคอยในเรื่องใดๆ)  จะสังเกตได้ว่า  การทำการดังว่ามานั้นจะเกิดทุกข์เนื่องจากในใจของเรา  (จิต)   จะประสงค์ต้องการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว


นอกจากนี้ เก็บที่นอน แปรงฟัน ฟอกสบู่ อยากเก็บ อยากแปรง อยากฟอกให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว     รองน้ำอยากรองให้เต็มเร็วๆ ขับรถอยากให้ถึงที่ทำงานหรือที่หมายเร็วๆ ไปติดต่องานไม่อยากล้าง รีด อ่านและเขียนให้เสร็จเร็วๆเช่นกัน ต้องชี้ให้เห็นว่า จิตนั้นมีตัณหา(อยาก,ความทะยานอยาก,ความร่านรน,ความปรารถนา)    ทั้งนี้ไม่รวมถึงทุกข์ที่เห็นได้ชัดหรือในเชิงประจักษ์เป็นต้นว่า อยากได้  ไม่อยากได้(อยากได้ทรัพย์ ไม่อยากเสียทรัพย์)          

            

สภาพและลักษณะแห่งจิต

                                                             
ลักษณะหนึ่งของจิตคือ จะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงและไม่เกาะเกี่ยวกับสิ่งใดๆ     ในปัจจุบันที่เรากำลังสัมผัสหรือทำการอยู่(ล้างหน้า แปรงฟัน ขับรถ อ่านและเขียนหนังสือ)อย่างมั่นคง  แต่จิตจะชอบเคลื่อนที่ซ้ำแนวเดิม     และเป็นวงกลมหรือส่วนหนึ่งของวงกลม เมื่อจิตเป็นเช่นว่านี้ เราต้องเข้าไปกำหนด จัดการควบคุมและกำกับจิตซึ่งทางพุทธเรียกว่า สติ สมาธิ อารมณ์ หรือทำให้จิตอยู่กับตัว

การข้าไปกำหนด จัดการจิตเช่นว่านี้ จะทำให้จิตมีพลังหรือกำลัง  ไม่ถูกถูกลดทอน   หรืออ่อนกำลังลงอันเกิดเนื่องมากจากการคิดเรื่อง อดีตอนาคต ความฝัน หนี้สิน ความป่วยเจ็บ

บางคนคิดแล้ว ทุกข์/เหนื่อย คิดไปก็ไม่ได้ประโยชน์รังแต่จะทำให้จิตเจ็บซ้ำบ่อยๆ    หรือซึ่งแม้แต่ล้างหน้า ฟอกสบู่ ล้างรถ ล้างจาน ซักผ้า      จิตก็ยังเจ็บเนื่องจากจิตอยากให้เสร็จเร็วๆในวันหนึ่งๆ  ผลรวมของจิตที่เจ็บจะมีปริมาณมากและจะมากขึ้นเรื่อยๆไปตามกาลเวลา

ดังนั้นสภาพแห่งจิตหรืออาการแห่งใจนั้นจะปรากฏส่งผ่านให้เห็นบนใบหน้าของเราโดยเฉพาะที่ดวงตา (ผ่อง เศร้าหมอง ดำ เครียด เหี้ยม เจ้าเล่ห์)  

 เมื่อจิตมีพลังแล้วจะทำให้การงานหรือการทำการใดๆจะสำเร็จได้ดี    เรียนหนังสือก็เรียน   เก่ง ขับรถก็ไม่ตาย รอคอยก็ไม่เบื่อหน่าย งานหนักก็ไม่เหนื่อย   งานเบาก็หายไป เห็นตัวหนังสือมากก็ไม่เหนื่อย เขียนหนังสือก็ไม่เหนื่อย                                                                                                                              
                 

การทำสมาธิเคลื่อนที่

การกำหนดรู้หรือมีสติหรือทำสมาธิประเภทสมาธิเคลื่อนที่ ซึ่งไม่ใช่การนั่งหลับตาเบาๆ และเกาะเกี่ยวลมหายใจเข้าออกอย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป    แต่มีลักษณะเป็นการประยุกต์ใช้ในการทำการใดๆให้สุขและพัฒนาปัญญา ซึ่งก็คือการมีสติหรือทำสมาธิจนเกิดภาวะอารมณ์ตั้งมั่นจนรู้ลมหายใจเข้าออกผ่านรูจมูก และในขณะเดียวกันก็พัฒนาหน้างานหรือสิ่งที่เราทำการอยู่หรือมีลำดับการเกิดห้าสิ่งขึ้นคือ สติ สมาธิ อารมณ์ ลมหายใจ และปัญญา 

ตัวอย่างหนึ่งของการเกิดสมาธิเช่น การฟังเพลง ดูละคร ดูทีวี หรือทำในสิ่งที่ชอบ  จิตจะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์แห่งการนั้น    ไม่คิดถึงสิ่งอื่นใดซึ่งก็มีลักษณะเดียวกับการทำการใดๆ  ให้มีสติหรือสมาธิจนเกิดอารมณ์ตั้งมั่นในสิ่งที่กำลังทำหรือสัมผัสนั้น และเหตุที่ต้องรู้ลมหายใจเข้าออกเนื่องจากต้องการ  ไม่ให้ร่างกายเหน็ดเหนื่อยซึ่งจุดนี้เรียกว่า การกำหนดการเคลื่อนไหวของร่างกาย ให้เป็นจังหวะสัมพันธ์กับลมหายใจเข้า  และหายใจออก เช่น ออกแรงยกของ บิดผ้า ขุดดิน ถางหญ้า หรือออกแรงกระทำใดๆต่อวัตถุหรือแม้แต่วิ่งออกกำลังกาย       

เมื่อจิตมีอารมณ์แล้ว ต้องใช้ปัญญาซึ่งหมายถึงการสังเกตการเคลื่อนไหวของร่างกายและลักษณะงานที่ทำอยู่นั้นเพื่อหาวิธีการเคลื่อนไหวและวิธีทำงานให้ง่ายที่สุดและใช้เวลาน้อยสุด โดยขณะที่จิตมีอารมณ์ตั้งมั่นในสิ่งที่ทำหรือสัมผัสนั้นจิตจะเป็นสุข หรือกล่าวได้ว่า  การมีสติหรือสมาธิทำให้เราเกิดความสุขขึ้นมาแล้วในทันที เหมือนดังเช่นฟังเพลง ดูละคร ดูทีวี หรือทำในสิ่งที่ชอบ                                                         

เทคนิคการทำสมาธิเคลื่อนที่

                                                                           

เทคนิคการมีสติหรือกำหนดรู้นี้จะต้องมีสิ่งล่อ ชักนำจิตให้มา เช่น การท่องถ้อยคำ(บริกรรม)การจัดสภาพแวดล้อม เพลงกล่อม          อากาศ กลิ่น เสียง แสง เป็นต้น หลักหนึ่งที่ใช้ได้ผลโดยง่ายคือ   การล่อจิตด้วยการท่องว่า "อย่าให้เสร็จๆ" ขณะที่ทำการใดๆ  และเมื่อจิตคิดเรื่องอดีต อนาคต หรือวิตกกังวล ให้ท่อง"อย่าคิดๆ"  แล้วรีบนำจิตมาเกาะเกี่ยวกับสิ่งที่ทำ     และบางครั้งจิตจะหนีไปขณะทำการใดๆ หรืออยู่เฉยๆ ก็ท่องว่า "รู้ๆหรือกำหนดรู้ๆ" 


เทคนิคดังกล่าวนี้ท่องเพื่อล่อหรือชักนำจิตให้มาเกาะเกี่ยวกับการงานหรือสิ่งที่ทำนั้น  และเมื่อจิตเกาะกับสิ่งที่ทำแล้วก็ไม่ต้องท่องต่อไปอีก    ซึ่งเทคนิคที่สำคัญสุด  คือ ทำการสิ่งใดๆ ก็ตามต้องทำอย่างช้าๆ และจะเร็วขึ้นเอง กล่าวคือตัวสติจะชอบเกิดในจังหวะที่ช้า   ส่วนตัวตัณหาจะเกิดไม่เป็นจังหวะและจะเร่งเร้าร้อนหรือเคลื่อนที่เร็ว  


และขณะทำการใดๆหรืองานต้องมองแค่คืบแค่ศอกหรือเป็นส่วนๆของงานเป็นต้นว่า ซักผ้า ก็มองแค่หนึ่งตัวอย่ามองหลายตัว จิตจะเหนื่อย    หรือพบเห็นตัวหนังสือมีข้อความเนื้อหามากหลายบรรทัดหลายหน้ากระดาษ    เมื่อจิตรับรู้ก็จะเหนื่อย   ไม่อยากอ่าน ก็ต้องมองที่ละถ้อยคำ ถอนหญ้า เกี่ยวข้าวยกสิ่งของจำนวนมากๆก็เช่นกันให้มองเป็นส่วนๆ    หรือชิ้นๆ


หากขับรถก็ให้มองทางและท่องว่า "อย่าให้ถึง"  (มันถึงอยู่แล้ว เพราะเรากำลังขับรถไปยังที่หมาย เปิดร้านขายของก็ไม่ต้องคิดว่า   จะขายได้เพราะมันขายได้อยู่แล้ว เนื่องจากเราเปิดร้าน    และเมื่อเกิดสติแล้วสมาธิก็จะตามมาและก็ไปถึงลำดับขั้นอารมณ์(เพลิดเพลิน) จากนั้นค่อยๆสังเกตลมหายใจเข้าและลมหายใจออก(หายใจยาวๆ)   และก็ใช้ปัญญาดัดแปลง ประยุกต์พัฒนาหน้างานโดยวิเคราะห์และสืบสาวหาเหตุปัจจัยเกี่ยวกับสิ่งที่ทำนั้น  หรือหาหลักการเคลื่อนไหวของร่างกายและวิธีทำงานให้ง่ายที่สุดและใช้เวลาน้อยที่สุดกับทั้งได้งานดีสุด       
   
                                                    
การปฏิบัติดังว่ามานี้  จึงเป็นไปตามดังคำพูดพระที่กล่าวไว้ว่า การปฏิบัติหน้าที่หรือการทำงานก็คือ การปฏิบัติธรรม นั้นเอง   และหากจะทำสมาธิเคลื่อนที่ได้ดีต้อง  ขยัน    ทำการงานหรือสิ่งใดๆ     ซึ่งหลักศาสนาพุทธหาได้อยู่ที่การรู้และเข้าใจพระธรรมคำสอนไม่ แต่อยู่ที่การปฏิบัติเป็นหลักโดยยึดที่ตัวสติหรือรู้ในสิ่งที่กระทบผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ(อายตนะ)   และทำความเข้าใจพิจารณากับสิ่งที่สัมผัสผ่านเข้ามานั้น      

         

ผลจากทำสมาธิเคลื่อนที่

                                                                                                                  
เป็นไปดังคำพูดพระที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ว่า งานก็ได้ผลคนก็เป็นสุข  และหากท่องคำว่า  "อย่าให้เสร็จๆ" , "อย่าคิดๆ "     และ"รู้ๆ หรือกำหนดรู้ๆ " ในภาวะต่างๆซึ่งประกอบด้วยทำการงาน    หรือทำการ ไม่ทำการ และขณะอยู่เฉยๆได้โดยตลอดทั้งวันแล้ว   จิตก็ตื่นตลอด เรียกว่า จิตสด   และการที่จิตสามารถกำหนดรู้ได้ตลอดทั้งวันนั้น ก็ทำให้ผู้ปฏิบัติเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ซึ่งตัวรู้หรือตัวสตินั้นก็คือ ตัวปัญญานั้นเอง
                                                                                                                               
จากหลักสมาธิดังกล่าวนั้นสามารถนำไปใช้ในการกำหนดรู้เพื่อเจริญวิปัสสนาได้ซึ่งก็คือการมอง หรือรับรู้สรรพสิ่งต่างๆทั้งปวง ซึ่งประกอบด้วยกาย เวทนา จิต ธรรม ให้เป็น   ไตรลักษณ์   (อนิจจัง  ทุกขัง อนัตตา) หรือ "ไอติม" (ตั้ง ดับ หาย) เพื่อทำลายความยึดมั่น

ปัจจัยการทำสมาธิเคลื่อนที่

                                                             
สิ่งสำคัญที่จะปฏิบัติให้เกิด สติ สมาธิ อารมณ์ ลมหายใจ   และปัญญาจะได้ช้าหรือเร็วนั้น จำเป็นที่ต้องรักษาศีลสักนิด      และเสริมทานสักหน่อย   หลักการให้ทาน จะได้บุญมากน้อยขึ้นอยู่กับสิ่งต่อไปนี้คือ ตัวผู้รับต้องมีศีล หรือเกิดอรรถประโยชน์เป็นการทั่วไป   

สร้างวัด โรงเรียน โรงพยาบาล,วัตถุทาน (เงิน ทรัพย์สิน สิ่งของ) ต้องเกิดขึ้นหรือมีอยู่หรือได้มาโดยความชอบธรรมต้องไม่คดโกงหรือเบียดเบียนแล้วนำมาให้ และตัวผู้ให้นั้นก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ต้องบริสุทธิ์  และเต็มใจในการให้ทานนั้น     

                          

พุทธศาสนสุภาษิตเกี่ยวกับจิต

                                                                                                                                 
มีพุทธศาสนสุภาษิตเกี่ยวกับจิตว่า    จิตที่ฝึกแล้วนำสุขมาให้, จิตที่คุ้มครองแล้วนำสุขมาให้, ผู้ประพฤติตามอำนาจจิตย่อมลำบาก,คนฉลาดย่อมทำจิตให้ซื่อตรง, พึงรักษาจิตของตนเหมือนคนประคองบาตรที่เต็มด้วยน้ำมัน,ก็บาปเกิดจากอารมณ์ใดๆ   พึงห้ามใจจากอารมณ์นั้นๆ, สติกำหนดลมหายใจเข้าออกอันผู้ใดไม่อบรมให้บริบูรณ์ทั้งกายและจิตของผู้นั้นก็หวั่นไหว,โลกถูกจิตนำไป ถูกจิตชักไป สัตว์ทั้งปวงไปสู่อำนาจแห่งจิตอย่างเดียว,โจรกับโจร  หรือไพรีกับไพรีพึงทำความพินาศให้แก่กัน      ส่วนจิตที่ตั้งไว้ผิดพึงทำเขาให้เสียหายยิ่งกว่านั้น,  ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุ่งไม่ดี ฉันใด    ราคะย่อมรั่วรดจิตที่ไม่ได้อบรมฉันนั้น   และความสิ้นตัณหาย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง     

เมื่อสุภาษิตเป็นดังนี้แล้ว                                                                                                      
                                                                                                                                                                                                                                
                        ถ้าอยากสุขต้องฝึกจิต            ถ้าไม่อยากทุกข์ต้องตัดตัณหา      

                       

หลักการและที่มาของการทำสมาธิเคลื่อนที่

      
                                                                                               
หลักการทำสมาธิเคลื่อนที่มีที่มาจากหลักอริยสัจซึ่งมีประเด็นหลัก ที่หยิบขึ้นมาพิจารณาคือ    สัมมาสติซึ่งเป็นตัวรู้อันชักนำก่อให้เกิด ปัญญา(สัมมาสมาธิ) โดยมีตัวประกอบรองคือ เห็นชอบ(สัมมาทิฏฐิ)และคิดชอบ(สัมมาสังกัปปะ) หรือนัยหนึ่งคือ ปรโตโฆสะ  (เสียงจากอื่นๆ) และโยนิโสมนสิการ(การทำในใจโดยแยบคาย)    


เมื่อเห็นชอบย่อมต้องคิดชอบ แล้วก็ย่อมพูดชอบ(สัมมาวาจา)     ทำชอบ(สัมมากัมมันตะ) อาชีพชอบ(สัมมาอาชีวะ)  และเพียรชอบ(สัมมาวายามะ)  

ส่วนประเด็นลมหายใจ นั้นมีที่มาจากหลักไท้เก๊ก-โยคะ  เป็นแนวความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิตที่เคลื่อนไหว โดยเน้นที่ลมหายใจเป็นประเด็นหลักในการทำให้ร่างกายไม่เหน็ดเหนื่อย เมื่อจิตและกายไม่เหนื่อยย่อมอยู่เย็นเป็นสุข 

                                                                                              
                                                                                                       

ถ้อยคำที่ใช้ล่อจิตเพื่อทำสมาธิเคลื่อนที่ต่อไป

                               
                                                                               
หลักการล่อจิตนั้นสามารถนำไปใช้เมื่อจิตเกิดภาวะโลภและโกรธได้ เป็นต้นว่า เมื่อจิตโลภอยากได้ทรัพย์หรือสิ่งอื่นใดก็ตาม     ให้ท่องว่า เอามาทำไม, กินแล้วก็ขี้ทิ้งเฉยๆไม่มีประโยชน์อะไร, อยาก ได้มันไปทำไม

พบเห็นผู้ใดคดโกงก็ท่องว่า กรรมใครกรรมมัน,กรรมใครกรรมมันก็แล้วกัน และเมื่อจิตโกรธ ให้ท่อง เมตตา, ช่างหัวมัน, โกรธเขาเราร้อน, โกรธเขาทำไมเขาทุกข์อยู่แล้ว, เขาทุกข์อยู่แล้ว   

โกรธเขาทำไม, ทน ทน ทน  ใช้เมื่อโกรธผู้มีอาวุโสกว่า(เจ้านาย, นายจ้าง), มันเป็นเช่นนั้น หรือท่องเป็นการทั่วไปเพื่อมิให้จิตหวั่นไหวในสิ่งใดๆ เป็นต้นว่า   มันธรรมดา,ธรรมดา, มันเป็นเช่นนั้นเอง

เบ็ดเตล็ด

     
การมีชีวิตหรือการดำเนินชีวิตนั้นจะมีปัญหาให้แก้ตลอด    และปัญหาที่ว่านั้นก็คือทุกข์นั้นเอง หนทางที่จะแก้ปัญหาหรือดับทุกข์ได้นั้น ต้องใช้ปัญญา และการมีปัญญาได้นั้นจะต้องมีสิ่งแรกเสียก่อนนั้นก็คือตัวรู้หรือสตินั้นเอง การแก้ปัญหาได้ดีต้องแก้ที่ตัวความคิด(จิต)เพื่อมิให้เกิดการกระทำขึ้นมา เช่น อยากได้บ้านหลังใหญ่    อยากได้รถหรือทรัพย์วัตถุใดก็ท่องว่า เอามาทำไม, มีประโยชน์อะไร, เป็นภาระเปล่าๆ, ดีหรือ


การคิดลักษณะนี้เป็นการทำในใจโดยแยบคายหรือการโยนิโสมนสิการ เพื่อตัดหรือต้านความคิดไม่ให้อยากได้ เพื่อมิให้เกิดการกระทำขึ้นมาอันจะต้องดิ้นรนหาเงินหาทองเพื่อได้ทรัพย์นั้น        
                                                                                                         

แต่หากมองว่า     สิ่งที่อยากได้มานั้น มีอายุเพียงนิดเดียวไม่ยั่งยืน และตัวเราก็มีอายุเพียงนิดเดียวไม่ยั่งยืนเช่นกันก็เรียกว่าเป็นการพิจารณาในลักษณะการวิปัสสนา ไตรลักษณ์) แล้ว ตำแหน่ง ยศ ศักดิ์ ทรัพย์ก็เช่นกัน ครองได้พักเดียว เดียวก็สิ้น หรืออาจกล่าวเป็นหลักทั่วไปว่าเมื่อเกิดเวทนา(ชอบ ไม่ชอบ อยาก ไม่อยาก) ให้รีบโยนิโสมนสิการ      หรือใช้หลักท่องในใจ(ล่อจิต)ก็ได้เพื่อเปลี่ยนทิศทางแห่งจิตไม่ให้ปรุง (สังขาร) ในสิ่งที่อยากนั้นเพื่อมิให้เกิดสภาพแห่งการกระทำขึ้นมาอันหมายถึงการตัดกระบวนการแห่งการกระทำให้เหลือเพียงความคิด       


ในวันหนึ่งๆ พึงนึกใจไว้ก่อนว่า อย่าคิดว่าเราต้องได้และอย่าคิดว่าเราจะต้องเสีย เนื่องจากหากคิดได้ เป็นต้นว่า เปิดร้านขายของหวังขายของได้เงินมากๆ หากไม่ได้ดังหวังก็ทุกข์  และหากเสียของไปอีก(มีคนลักของไปหรือของเสีย) ก็คงทุกข์หนักขึ้นมากกว่าเดิม การรักษาศีลคือ การไม่เบียดเบียน อัปรีย์ ผี (ไม่มีสัจจะ) เปรต(อยากได้)เมื่อให้ทานแล้ว จะไม่   กั๊ก,กัก,เก็บ,กอบ,โกย,โกง,โก้,โก๋,โก แอนด์กิ๊ก    (ระดับโลภะในการแสวงเข้าครอบครองสิ่งที่มีคุณค่า)  
                         

สังคมจะเป็นสุขก็ต่อเมื่อการไม่อยู่ร่วมกันอย่างผีๆ เปรตๆ สัตว์ๆ(ไม่รัก เคือง ดุ ทำร้าย ฆ่า สังหาร วายวอด ทั้งหมด เผา) และเอาเป็นแต่น้อยๆ( เอา หมายถึงการเอาสิ่งที่มีคุณค่าทางสังคมเพื่อตนและพวกพ้อง   เป็น หมายถึง  การเข้าดำรงตำแหน่งทางสังคมเพื่อเข้าครอบครองสิ่งที่มีคุณค่าทางสังคม)   เมื่อเป็นมนุษย์แล้ว    หากมีเวลาและโอกาสควรทำความเข้าใจในสิ่งต่อไปนี้ คือ มนุษย์ โลก จักรวาล และจิต    หรือเรียกว่า จตุรทรรศนะ ซึ่งเป็น หลักสูงสุดแห่งพุทธ หรือธรรม หรือธรรมชาติ.      

                

บทความที่ได้รับความนิยม